แนวปฏิบัติการพัฒนาเว็บไซต์

การพัฒนาเว็บไซต์เป็นช่องทางหนึ่งที่ช่วยสร้างภาพลักษณ์ให้กับองค์กร หน่วยงาน กิจกรรมหรือบุคคล ดังนั้นการออกแบบพัฒนาเว็บไซต์ ต้องคำนึงถึงความพร้อมของผู้ชมเว็บเป็นหลัก คือ ไม่เกิดปัญหาการแสดงผลภาษาไทย โหลดได้เร็ว สืบค้นได้ง่าย รองรับกับเทคโนโลยีส่วนมากของผู้ชมเว็บ ฝ่ายบริการความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (STKS) ขอนำเสนอแนวปฏิบัติที่จำเป็นในการออกแบบพัฒนาเว็บไซต์ ดังนี้

แนวปฏิบัติการพัฒนาเว็บไซต์สำหรับเว็บไซต์…..
ในสังกัด…
ประกาศ ณ วันที่ ….

หลักการและเหตุผล

การพัฒนาเทคโนโลยีทางด้านคอมพิวเตอร์ และระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ความนิยมในการเข้าถึงข้อมูลหรือใช้บริการต่างๆ ในระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตมีมากขึ้น ด้วยเหตุนี้จึงมีการใช้ระบบเครือข่ายในการนำเสนอข้อมูล หรือติดต่อสื่อสาร หรือประกอบธุรกรรมต่างๆ มากขึ้นตามไปด้วย

เพื่อให้การนำเสนอข้อมูลดังกล่าวของหน่วยงานมีคุณภาพสูง สวย ใช้งานได้ดี จาก Web browser ทุกชนิด รวมทั้งควรมีการค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับผลงานทุกประเภทของหน่วยงาน และเป็น Search engine friendly คณะทำงานบริหารและพัฒนาเทคนิคเว็บไซต์จึงได้กำหนดรูปแบบแนวปฏิบัติของการจัดทำเว็บไซต์ ซึ่งสนับสนุนฟังก์ชันและพันธะกิจขององค์กร โดยเน้นที่ประสิทธิภาพ ความสอดคล้อง และการเข้าถึงโดยไม่แบ่งชนชั้น เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนผู้สนใจทั่วไป

นโยบาย

การจัดทำแนวปฏิบัติการพัฒนาเว็บไซต์ มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างเว็บไซต์ที่สามารถเข้าถึงได้โดยง่าย มีความสอดคล้องและความถูกต้องของข้อมูล และมีส่วนติดต่อกับผู้ใช้ที่สะดวก ทั้งนี้เพื่อให้ผู้เข้าเยี่ยมชมและใช้งานเว็บต่างๆ ของหน่วยงาน สามารถเข้าถึงข้อมูลและบริการได้ตลอดเวลาและอย่างมีประสิทธิภาพ

ขอบเขตของการประยุกต์ใช้แนวปฏิบัติ

แนวปฏิบัตินี้ประยุกต์ใช้กับหน่วยงานย่อยทุกหน่วยงานภายใต้หน่วยงาน และทุกเว็บไซต์ให้บริการต่างๆ ที่จัดทำขึ้นโดยหน่วยงาน แต่เพียงองค์กรเดียว และอยู่ภายใต้โดเมนเนม ….

 

แนวปฏิบัติ

  1. เว็บไซต์ควรจะสอดคล้องกับข้อกำหนดของ W3C สำหรับ Extensible HyperText Markup Language (XHTML) ระดับ 1.0 หรือ HTML ระดับ 4.0
  2. เว็บไซต์ควรจะสอดคล้องกับข้อกำหนดของ W3C ในเรื่องการพัฒนาเว็บไซต์ให้ทุกคนเข้าถึงได้ (Web Content Accessibility Guidelines) ระดับ 1.0
  3. หากเว็บไซต์ใดใช้ Cascading Style Sheets (CSS) เว็บไซต์เหล่านั้นควรจะสอดคล้องกับข้อกำหนดของ W3C สำหรับ CSS ระดับ 1
  4. รายละเอียดของแนวปฏิบัติแบ่งออกเป็น 4 ประเภท ได้แก่
    1. แนวปฏิบัติการตั้งชื่อไฟล์และ Directory เป็นการกำหนดวิธีการตั้งชื่อที่สื่อความหมาย เข้าใจตรงกัน สั้นกระชับ และไม่เกิดความสับสน ซึ่งจะช่วยให้ Search engine ให้ค่าความสำคัญของเว็บไซต์สูงสุด หากคำสำคัญพบเป็นชื่อไฟล์และชื่อ Directory โดยตรง รายละเอียดแสดงในเอกสารแนบ 1
    2. แนวปฏิบัติทางด้านเนื้อหา เป็นการกำหนดแนวปฏิบัติในส่วนของโครงสร้างข้อมูล หรือกรอบพื้นฐานของการนำเสนอเนื้อหา ที่แต่ละหน่วยงานหรือโครงการจะต้องนำเสนอบนระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต รายละเอียดแสดงในเอกสารแนบ 2
    3. แนวปฏิบัติทางด้านรูปแบบการใช้ภาษาบนเว็บ เป็นการกำหนดแนวปฏิบัติในส่วนของรูปแบบของการนำเสนอข้อมูลของเว็บไซต์ ให้มีรูปแบบเดียวกัน สามารถแสดงผลบนจอเป็นอักษรไทยหรืออักษรอังกฤษได้ถูกต้องกับ Web browser ทุกชนิด และการนำเสนอข้อมูลภาษาที่ถูกต้องตามหลักภาษา รายละเอียดแสดงในเอกสารแนบ 3
    4. แนวปฏิบัติทางด้านเทคนิค เป็นการกำหนดแนวปฏิบัติในส่วนของการเขียน HTML หรือส่วนของโค้ดที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เป็นเว็บไซต์ที่ทุกคนเข้าถึงได้ รายละเอียดแสดงในเอกสารแนบ 4
  5. แต่ละเว็บย่อยภายใต้หน่วยงาน จะต้องแก้ไขเส้นเชื่อมที่เสีย (Broken Links) ให้แล้วเสร็จภายใน 2 สัปดาห์ นับจากวันที่ได้รับแจ้ง และผู้ดูแลเว็บควรใช้เครื่องมือตรวจ Links ด้วยตนเองอย่างสม่ำเสมอ
  6. ทุกๆ หน้าเว็บ ควรจะแสดงข้อมูลต่างๆ (ยกเว้นหน้าเว็บอินทราเน็ต) ดังต่อไปนี้
  7. ข้อมูลติดต่อหน่วยงาน ได้แก่ ที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ และอีเมล
  8. เส้นเชื่อมกลับไปยังหน้าหลักของหน่วยงาน
  9. คำแถลงการณ์สงวนลิขสิทธิ์

คำจำกัดความ

  1. การโฆษณาประชาสัมพันธ์ – ให้โฆษณาผลิตภัณฑ์ บริการ หรือการอบรมของหน่วยงาน และของ…
  2. เว็บไซต์ขององค์กรร่วม (Partners) – เว็บไซต์ขององค์กรอื่น ที่ทำกิจกรรมร่วมกับหน่วยงาน
  3. เว็บไซต์ย่อยของหน่วยงาน – เว็บไซต์ของหน่วยงานย่อยภายใต้สังกัดหน่วยงาน หรือเว็บไซต์ของบริการหรือโครงการที่บริหารจัดการโดยหน่วยงานย่อยภายใต้สังกัดหน่วยงาน
  4. หน้าเว็บ HTML – หน้าเว็บที่มีโค้ด HTML
  5. เว็บไซต์อินทราเน็ต – เว็บไซต์ที่เฉพาะพนักงานของหน่วยงาน เข้าถึงได้เท่านั้น
  6. เว็บไซต์ – กลุ่มของไฟล์เว็บ หรือกลุ่มของหน้าเว็บ

เอกสารแนบ 1 แนวปฏิบัติการตั้งชื่อไฟล์และ Directory

ข้อกำหนด

  1. ให้ใช้ตัวอักษรและตัวเลข โดยไม่มีเครื่องหมายวรรคตอนใดๆ ยกเว้นแต่ . และ – เท่านั้น (ไม่ใช้ space และ underscore “_” เพราะจะสร้างปัญหาเมื่อเป็นส่วนหนึ่งของ URL) ตัวอย่าง grid-computing.sxw เป็นต้น
  2. ชื่อไฟล์ทุกชนิดที่ใช้บน Webpage ให้ตั้งชื่อเป็นภาษาอังกฤษเท่านั้น
  3. ชื่อไฟล์ของเอกสารแนบ
    1. ในการร่างเอกสารเป็นครั้งแรก ขอให้ใส่วันที่ไว้ข้างหน้า โดยรูปแบบของวันที่คือ yyyymmdd ตัวอย่าง 20050809-grid-computing.sxw เป็นต้น
    2. ในกรณีที่ในวันเดียวกันนั้น มีการแก้ไขและทบทวนออกมาอีก 2 versions ให้ตั้งชื่อไฟล์ใหม่ โดยเติมตัวเลขกำกับ version ต่อท้าย ตัวอย่าง 20050809-grid-computing-1.sxw และ 20050809-grid-computing-2.sxw เป็นต้น
    3. ในกรณีที่มีการแก้ไขและปรับปรุงในวันอื่นๆ ถัดมา ให้ตั้งชื่อใหม่ตามวันที่ ตัวอย่าง 20050818-grid-computing.sxw
    4. ในกรณีที่มีการแจกไฟล์ให้กับผู้เกี่ยวข้องพร้อมกันหลายคน และอาจจะต้องนำไฟล์ที่แก้ไขนั้นมารวมกันใหม่ ให้ผู้ที่อยู่ในทีมงาน ใส่ชื่อย่อของตัวเองต่อท้าย version และใช้ Track-change เพื่อให้สามารถมองเห็นส่วนที่แก้ไขได้ชัดเจน ทั้งนี้ทุกคนอาจใช้เลข version ใหม่ที่เป็นเลขเดียวกันได้
  4. ชื่อ Directory สำหรับการสร้างเว็บไซต์
    1. ให้ตั้งด้วยคำภาษาอังกฤษที่กระชับและสั้นที่สุด (ไม่ต้องใส่วันที่หรือคำขยายความใดๆ) เพื่อช่วยให้ Search engine ค้นหาพบโดยง่าย
    2. ในกรณีที่มีหลายคำ ให้ใช้ “-“ (Hyphen) เชื่อมระหว่างคำ ไม่ใช้ช่องว่าง (Space) หรือ “_” Underscore

เอกสารแนบ 2 แนวปฏิบัติทางด้านเนื้อหา

ข้อกำหนด

เว็บไซต์จะต้องนำเสนอเนื้อหาตามคู่มือมาตรฐานเว็บไซต์ภาครัฐ

เอกสารแนบ 3 แนวปฏิบัติทางด้านรูปแบบการใช้ภาษาบนเว็บ

ข้อกำหนด

หน่วยงานจะต้องนำเสนอข้อมูลโดยมีรูปแบบของการนำเสนอข้อมูล และการแสดงผลภาษาดังต่อไปนี้

  1. ในการนำเสนอข้อมูลในแต่ละหน้าจะต้องมี Header และ Footer ของเว็บหน่วยงานใส่อยู่เสมอ ซึ่งจะต้องประกอบไปด้วยข้อมูลดังต่อไปนี้
    1. Header จะต้องประกอบด้วย โลโก้ขององค์กรที่จะลิงค์กลับไปที่หน้าแรกขององค์กร, ชื่อของหน่วยงานที่จะลิงค์ไปที่หน้าแรกของหน่วยงาน, เมนูหลักของเว็บไซต์, และช่องสำหรับค้นหาข้อมูล
    2. Footer จะต้องประกอบไปด้วยข้อความสงวนลิขสิทธิ์ (Copyright) ในการนำข้อมูลในเว็บไซต์ไปใช้
  2. สำหรับเอกสารภาษาไทย การใช้เครื่องหมายวรรคตอนจะต้องเป็นไปตามข้อกำหนด

คำแนะนำ

หน่วยงานต่างๆ ควรจะมีรูปแบบของการนำเสนอ และการแสดงผลภาษาไทยดังต่อไปนี้

  1. ข้อมูลทุกส่วนของเว็บไซต์ ควรจะมีการนำเสนอทั้งหน้าเอกสารภาษาไทย และหน้าเอกสารภาษาอังกฤษ และควรจัดทำลิงค์สำหรับการเปลี่ยนระหว่างหน้าภาษาไทย และหน้าภาษาอังกฤษ และควรจัดวางตำแหน่งของลิงค์ไว้ในตำแหน่งที่สามารถเห็นได้ชัดเจน
  2. ในเอกสารภาษาอังกฤษ ในการแสดงตัวเลขที่มีค่าน้อยกว่า 20 ควรจะใช้คำในภาษาอังกฤษแทนตัวเลขนั้น เช่น I bought 5 pens for 20 baht. ควรเขียนเป็น I bought five pens for 20 baht. ตามหลักทั่วไปของการใช้ภาษาอังกฤษที่ดี

เอกสารแนบ 4 แนวปฏิบัติทางด้านเทคนิค

ข้อกำหนด

  1. เอกสารเว็บจะต้องมีการกำหนดชื่อของเอกสารหน้านั้น ไว้ในส่วนของแท็ก <title>…</title> โดยชื่อที่กำหนดขึ้นมาควรใช้ภาษาอังกฤษ และต่อท้ายด้วยภาษาไทยได้ และอธิบายถึงภาพรวมของเว็บไซต์นั้นๆ ให้ได้มากที่สุด เพราะชื่อของเอกสารที่กำหนดไว้นี้ จะส่งผลให้โปรแกรมเก็บข้อมูลของเว็บไซต์ที่ให้บริการค้นหาข้อมูล (Search Engine) สามารถตรวจพบ และเก็บชื่อที่กำหนดให้กับเอกสาร เข้าไว้ในระบบฐานข้อมูล เพื่อใช้เป็นคีย์เวิร์ด สำหรับการค้นหาเว็บไซต์ต่อไป (ข้อความที่ระบุใน <title> นี้ไม่ควรยาวเกิน 64 ตัวอักษร)
    1. ไม่ควรใช้เทคนิคใดๆ ในการพิมพ์ เช่น เว้นวรรคระหว่างตัวอักษร หรือควบคุมด้วย Javascript
    2. กรณีที่พัฒนาเว็บด้วย CMS: Content Management System เช่น Joomla จะต้องกำหนด Title ของบทความและเว็บไซต์จากส่วนควบคุม CMS ด้วย
  2. เอกสารเว็บควรกำหนดคีย์เวิร์ดให้กับเอกสารนั้นๆ โดยการใช้แท็ก <meta name=“keywords” content=“คีย์เวิร์ดสำหรับโฮมเพจ”> ตัวอย่างเช่น <meta name=“keywords” content=“STKS, Science and Technology Knowledge Services, NSTDA, Library, ห้องสมุด, บริการทรัพยากรสารสนเทศ”> เป็นต้น ซึ่งคีย์เวิร์ดนี้จะเป็นข้อมูลอีกส่วนหนึ่งที่โปรแกรมเก็บข้อมูลของเว็บไซต์ค้นหาข้อมูล (Search Engine) บางชนิด เก็บไปทำเป็นคีย์เวิร์ด สำหรับการค้นหาเว็บไซต์ ดังนั้นถ้าต้องการให้เอกสารถูกตรวจพบโดยเว็บไซต์ที่เป็น Search Engine หลายๆ ชนิด เราควรจะใส่ทั้งชื่อของเอกสาร และใส่คีย์เวิร์ดในแท็ก <meta name=“keywords” …>
    1. กรณีที่พัฒนาเว็บด้วย CMS จะต้องกำหนด Keyword ของบทความและเว็บไซต์จากส่วนควบคุม CMS ด้วย
  3. เอกสารเว็บทุกแฟ้มจะต้องกำหนดคำอธิบายเว็บอย่างย่อโดยการใช้แท็ก <meta name=“description” content=“คำอธิบายเว็บ”> เพื่อเป็นข้อมูลสำหรับ Search Engine แสดงผลประกอบการสืบค้นเว็บไซต์ ทั้งนี้ไม่ควรยาวเกิน 250 ตัวอักษร
    1. กรณีที่พัฒนาเว็บด้วย CMS จะต้องกำหนดคำอธิบายเว็บของบทความและเว็บไซต์จากส่วนควบคุม CMS ด้วย
  4. เอกสารเว็บควรกำหนดชื่อหน่วยงานหรือผู้พัฒนาเว็บ โดยการใช้แท็ก <meta name=“author” content=“ชื่อหน่วยงาน/ผู้พัฒนาเว็บ”>
  5. เอกสาร HTML ทุกหน้าจะต้องมีการกำหนดชุดของตัวอักษร (Character Set) โดยจะต้องกำหนดเป็นชุด UTF-8 ซึ่งการกำหนดชุดของตัวอักษรในเอกสารแต่ละหน้านั้นจะใช้รูปแบบเป็น <meta http-equiv=“Content-Type” content=“text/html;charset=UTF-8”>
    1. การระบุ UTF-8 จะต้องระบุให้เหมือนกันทั้งเว็บ และต้องตรงกับระบบภาษาไทยของโปรแกรมจัดการฐานข้อมูล และ Web Programming
  6. ในเอกสารที่จะนำขึ้นเผยแพร่บนระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต จะต้องกำหนดชนิดของฟอนต์ที่ใช้ โดยการใช้แท็ก <font face=“ชื่อของฟอนต์”> โดยเฉพาะเว็บไซต์ที่มีการใช้ข้อมูลที่เป็นภาษาไทย จะต้องกำหนดชื่อฟอนต์ที่มีอยู่ในเครื่อง Macintosh และ PC พร้อมทั้งระบุขนาดที่เหมาะสมด้วย
    1. ในหน้าภาษาไทยกำหนดเป็น <font face=” “Tahoma, MS Sans Serif, Thonburi”>…</font>
      1. ฟอนต์ Thonburi เป็นฟอนต์สำหรับเครื่อง Macintosh
    2. ในหน้าภาษาอังกฤษควรจะกำหนดเป็น <font face=“Arial, Helvetica”>…</font>
    3. ในการใช้แท็ก <font face=”…”>…</font> นั้น ให้ระบุไว้ที่ตอนต้นของเอกสารครั้งเดียว ไม่ต้องเขียนหลายรอบ เพราะจะเป็นการเพิ่มขนาดของไฟล์เอกสาร HTML โดยไม่จำเป็น ยกเว้นเมื่อมีการใช้แท็ก <table> เพื่อกำหนดการแสดงผลแบบตารางจะต้องมีการระบุ <font face=”…”> ไว้หลังแท็ก <td> ทุกแท็กของตารางนั้น
    4. สำหรับ CSS ให้ระบุด้วยคำสั่ง Font-Family: Tahoma, “MS Sans Serif”, Thonburi;
    5. ในกรณีที่มีการเปลี่ยนขนาดของฟอนต์ ไม่ต้องกำหนด <font face=”…”>…</font> ให้ใช้แท็ก <font size=”…”>…</font> ได้ทันที หรือใช้ CSS ในการควบคุม
  7. สำหรับการใช้งาน ข้อมูลประเภทรายการ หรือตารางในเอกสาร โดยการใช้แท็ก <ol>, <ul>, <dl> และ <table> ไม่ควรใช้ซ้อนกันเกินสองระดับ เพราะอาจเป็นผลทำให้ เอกสารนั้นกว้างเกินหน้าจอ ทำให้เกิดสกรอลล์บาร์ทางด้านล่าง ของโปรแกรมเว็บเบราว์เซอร์ ซึ่งจะทำให้ผู้ใช้ ต้องทำการเลื่อนดูข้อมูล ที่ขาดหายไป และยังทำให้การพิมพ์เอกสารหน้านั้นออกมาทางเครื่องพิมพ์ ข้อความบางส่วนจะขาดหายไป (ส่วนที่เกินหน้าจอ)
  8. ในการเขียน HTML นั้น ควรจะเขียนโค้ดให้เป็นระเบียบ และมีคอมเมนต์อธิบายไว้เป็นระยะ โดยความยาวของ HTML ในแต่ละบรรทัด ไม่ควรเกิน 80-90 ตัวอักษร เพื่อให้สามารถอ่านข้อมูล และปรับปรุงแก้ไขได้ง่าย นอกจากนั้นการตัดคำภาษาไทยของเอกสารหน้านั้นๆ ยังสามารถทำได้อย่างถูกต้องอีกด้วย
  9. การนำภาพมาประกอบในเอกสาร โดยการใช้แท็ก <img …> นั้น จะต้องกำหนดความกว้าง และความสูงที่ถูกต้องของภาพนั้นไว้ด้วยเสมอ เพราะจะทำให้การจัดโครงร่างของเอกสาร ทำได้อย่างรวดเร็ว และที่สำคัญจะต้องกำหนดแอทริบิวต์ alt และ title ไว้ภายในแท็ก <img scr=“ชื่อไฟล์ภาพ” width=“ความกว้างเป็นพิกเซล” height=“ความสูงเป็นพิกเซล” alt=“คำอธิบายภาพ” title=“คำอธิบายภาพ”> เพื่อแสดงข้อความอธิบายสำหรับเว็บเบราว์เซอร์บางชนิด ที่ไม่สามารถแสดงข้อมูลที่เป็นรูปภาพได้ และเป็นข้อมูลสำหรับการสืบค้นของ Search Engine
    1. กรณีที่ใช้ CMS สามารถกำหนดค่าความกว้าง ความสูง และคำอธิบายภาพได้จากระบบ
  10. การนำรูปภาพมาประกอบในเอกสาร HTML นั้น ถ้ารอบๆ ตำแหน่งที่วางรูปภาพมีตัวอักษร ควรจะกำหนดระยะห่างจากขอบของรูปทุกด้าน โดยการใช้แอทริบิวต์ vspace=“ระยะห่างเป็นพิกเซล” hspace=“ระยะห่างเป็นพิกเซล” และถ้ารูปนั้นเป็นตัวเชื่อมโยงไปยังเอกสารอื่น ไม่ควรกำหนดความกว้างของกรอบ คือ ความกว้างเท่ากับศูนย์ โดยใช้แอทริบิวต์ border=“0” เช่น <img alt=”VIDEO” src=”http://www.stks.or.th/graphics/video-56.gif” width= “56” height= “20” border=”0″ hspace=”3″ vspace=”3″>
    1. กรณีที่ใช้ CMS สามารถกำหนดค่าความกว้าง ความสูง และคำอธิบายภาพได้จากระบบ
  11. ในการตั้งชื่อแฟ้มข้อมูลและชื่อไดเร็กทอรี่ ที่ใช้ในการเก็บข้อมูล จะต้องใช้ชื่อภาษาอังกฤษที่ไม่ยาวเกินไปและสื่อความหมาย โดยชื่อประกอบด้วยตัวอักษรตัวเล็ก ไม่มีการเว้นวรรคระหว่างชื่อ และนามสกุลของไฟล์เอกสาร HTML จะต้องเป็น .html หรือ.htm (หรืออื่นๆ ตามระบบที่ดำเนินการ) และแฟ้มข้อมูลแรกที่ต้องการให้ผู้เข้าชมเห็นควรจะตั้งชื่อเป็น “index” ในทุกๆ ไดเร็กทอรี่จะต้องมีไฟล์ชื่อนี้อยู่ด้วย เพื่อไม่ให้ผู้ใช้เห็นแฟ้มข้อมูลทั้งหมดที่อยู่ในไดเร็กทอรี่นั้น เช่น ในไดเร็กทอรี่ที่เก็บภาพควรจะสร้างไฟล์เปล่าๆ แล้วบันทึกไว้ในชื่อ “index” เพื่อไม่ให้ผู้เข้าชมมองเห็นรายชื่อของไฟล์ทั้งหมด ที่อยู่ในไดเร็กทอรี่นั้น เป็นต้น
  12. ผู้เข้าชมเว็บไซต์ควรได้รับแจ้งข้อมูลเกี่ยวกับการใช้งานโปรแกรมปลั๊กอิน (Plug-ins) พร้อมทั้งควรมีจุดเชื่อม (Link) ให้สามารถดาวน์โหลดและติดตั้งโปรแกรมนั้นๆ ได้โดยสะดวก
  13. ห้ามคัดลอก (Copy) เอกสารจากเว็บใดๆ หรือเอกสารต้นฉบับเช่น Microsoft Office, OpenOffice.org มาวางบน WYSIWYG Editor เนื่องจากจะติด Special Code ของโปรแกรมนั้นๆ มาด้วย ส่งผลให้การแสดงผลเอกสารไม่เป็นไปในแนวทางเดียวกันทั้งหมด ควรจะนำไปวาง (Paste) บน NotePad หรือ Text Editor ใดๆ ก่อนแล้วจึงคัดลอกมาวางบน WYSIWYG Editor อีกครั้ง หรือใช้บริการ HTML Cleaner
  14. เว็บไซต์จะต้องติดซอฟต์แวร์วิเคราะห์การเข้าชม เช่น Truehits, Google Analytic
  15. ตรวจสอบไฟล์ robots.txt ว่าเปิดให้ search engine ต่างๆ เข้ามาเก็บข้อมูลเพื่อไปทำ index ของตัวเองได้ ถือเป็นตัวสำคัญที่จะกำหนดให้ bot เข้ามาเก็บข้อมูลต่างๆ ในเว็บไซต์เรา สำหรับผู้ที่ใช้ CMS จะมีวิธีตั้งค่าแตกต่างกันไป
  16. จัดทำ XML sitemap ของเว็บไซต์เพื่อให้ search engine เข้ามาสำรวจข้อมูลเว็บให้ครบถ้วน จะมีการจัดทำ sitemap แตกต่างกันไป
  17. ทำการเพิ่มเว็บไซต์ของเราให้ search engine รู้จัก เช่น ใช้บริการ Google Search Console เพื่อแนะนำเว็บไซต์เราให้ google รู้จัก และสามารถส่ง XML sitemap เพื่อชี้ path ให้เข้ามาสำรวจได้ง่ายขึ้น ความสามารถของ Google Search Console ยังมีอีกหลายอย่าง เช่น แจ้งหน้าเว็บที่แก้ไขข้อมูลใหม่ให้ google เข้ามาเก็บข้อมูลใหม่ได้ และสามารถตรวจสอบข้อบกพร่องของทั้งเว็บไซต์ได้ด้วย
  18. ศึกษาวิธีการทำ SEO (Search Engine Optimization) ซึ่งเป็นพื้นฐานและข้อควรทำในการทำเว็บไซต์ที่ดี กลยุทธ์ 3 รู้สู่ SEO การทำเว็บตามกำหนด SEO จะทำให้ search engine จัดอันดับเว็บไซต์ของเราให้อยู่อันดับที่สูง ทำให้คนที่ search ข้อมูลเจอเว็บไซต์เราง่ายขึ้น

คำแนะนำ

  1. ในระหว่างการพัฒนาโฮมเพจ ควรจะมีการทดสอบการแสดงผล โดยการใช้โปรแกรมเว็บเบราว์เซอร์หลายๆ ชนิด เช่น
    1. โปรแกรม Mozilla Firefox บน PC
    2. โปรแกรม Internet Explorer บน PC
    3. โปรแกรม Mozilla Firefox บน Macintosh
    4. โปรแกรม Internet Explorer บน Macintosh
    5. โปรแกรม Safari บน Macintosh
    6. ทุกเว็บเบราว์เซอร์ใหม่ๆ ที่สามารถทดสอบได้
  2. ในการทดสอบการแสดงผล ควรทดสอบที่ความละเอียดของหน้าจออย่างต่ำ 800 x 600 จุด และแนะนำให้ใช้ความละเอียดของหน้าจอ 1024 x 768 จุด เพื่อความเหมาะสมและสวยงามที่สุด
  3. ควรทดสอบระยะเวลาที่ใช้ในการดูเว็บเพจ โดยทดสอบด้วยการใช้โมเด็มความเร็ว 56 kbps ซึ่งเว็บเพจที่พัฒนาขึ้นควรจะเริ่มแสดงผลข้อมูลไม่เกิน 10 วินาทีหลังจากได้รับการร้องขอ (Request) และแสดงผลได้สมบูรณ์ไม่เกิน 30 วินาที เนื่องจากผู้เข้าชมเว็บเพจที่พัฒนาขึ้น อาจจะมาจากต่างสถานที่กัน ใช้โมเด็มความเร็วต่างกัน ผู้พัฒนาควรทดสอบการเข้าชมเว็บเพจ จากโมเด็มที่มีความเร็วที่ครอบคลุมถึงผู้ใช้ส่วนใหญ่
  4. การตั้งชื่อที่อยู่ของอีเมลของหน่วยงาน ให้ตั้งชื่อเป็นกลาง “webmaster@หน่วยงาน/บริการ.stks.or.th” หรือ “webmaster-หน่วยงาน@stks.or.th” โดยเสนอให้จัดแสดงที่อยู่ของอีเมลในลักษณะภาพกราฟิก(Image) เพื่อป้องกันการเก็บรวบรวมอีเมลโดยอัตโนมัติเพื่อการส่งอีเมลขยะ