TH Sarabun IT๙, TH Niramit IT๙

สืบเนื่องจากที่ได้เห็นประกาศศูนย์ไอที สำนักงานกลาง หรือฝ่ายธุรการที่ออกประกาศการใช้ฟอนต์ TH Sarabun IT๙, TH Niramit IT๙ ดังนี้

หรืออีกมายมายในเว็บ

ที่มาของเรื่องนี้ก็คงเกี่ยวข้องกับประกาศ 2 ฉบับ คือ

  1. ประกาศฟอนต์มาตรฐานราชการไทย
  2. ประกาศการใช้เลขไทยในจดหมายราชการ

ประกาศฟอนต์มาตรฐานราชการ ได้มีประกาศ ครม. วันที่ 7 กันยายน 2553 เกี่ยวกับการใช้ฟอนต์เอกสารดิจิทัลในประเทศไทย โดยกำหนดให้ใช้ฟอนต์มาตรฐานราชการไทย ดังรายละเอียด

กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ทก.) รายงานว่า ปัจจุบันส่วนราชการจำนวนมากมีการใช้ฟอนต์ที่หลากหลายไม่มีมาตรฐานในเอกสาร ทางราชการ อีกทั้งยังมีหน่วยงานราชการหลายแห่งใช้มาตรฐานฟอนต์ของบริษัทเอกชนที่ผูกขาด ลิขสิทธิ์ของระบบปฏิบัติงาน ทำให้จำกัดสิทธิ์ต่างๆ  ที่จะมีมาตรฐานเอกสารเป็นเสรี ไม่ขึ้นกับระบบปฏิบัติการใดๆ เช่น Angsana อาจมีปัญหาเรื่องการฟ้องร้องละเมิดลิขสิทธิ์ได้ จึงได้มีการพัฒนาและมีการประกวดแข่งขันฟอนต์ ซึ่งเป็นการส่งเสริมให้เกิดการใช้ Open Source  Software ที่เป็นซอฟต์แวร์เสรีให้ส่วนราชการไทยประกาศมาตรฐานเอกสารดิจิทัลและรูปแบบ ของฟอนต์ที่ไม่ขึ้นกับระบบปฏิบัติการและลิขสิทธิ์ของบริษัทใดๆ เพื่อความภาคภูมิใจในความเป็นชาติและเอกลักษณ์ของความเป็นชาติไทย

ซึ่งในขณะนี้มีฟอนต์ที่ส่วนราชการไทยสามารถเป็นเจ้าของและพร้อมแจกจ่าย ให้กับผู้ประสงค์จะใช้งานรวม 13 ฟอนต์ ซึ่งเป็นลิขสิทธิ์ สำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) และกรมทรัพย์สินทางปัญญาเพื่อแจกจ่ายให้ใช้อย่างเสรีปราศจากปัญหาด้าน ลิขสิทธิ์

ดังนั้นเพื่อให้เอกสารต่างๆ ของภาครัฐ เป็นไปอย่างมีมาตรฐานปราศจากปัญหาลิขสิทธิ์และไม่ได้ขึ้นกับระบบปฏิบัติการ ระบบใดระบบหนึ่งและเพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  เนื่องในวโรกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 84 พรรษา จึงเห็นควรให้หน่วยงานราชการปฏิบัติดังนี้

1. ดำเนินการติดตั้ง ฟอนต์สารบรรณและฟอนต์อื่นๆ ทั้งหมดจำนวน 13 ฟอนต์ ของสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) และกรมทรัพย์สินทางปัญญา เพิ่มเข้าไปในระบบปฏิบัติการ Thai OS และใช้ฟอนต์ดังกล่าวแทนฟอนต์เดิม และให้ถือเป็นมาตรฐานของหน่วยงานภาครัฐทุกหน่วย

2. ให้ติดตั้งและใช้ งานให้แล้วเสร็จก่อนวันที่ 5 ธันวาคม 2553 และให้รายงาน ทก. เมื่อได้ดำเนินการแล้วเสร็จ โดยมีชื่อที่สงวนไว้สำหรับโปรแกรมคอมพิวเตอร์ฟอนต์นี้

  • TH Sarabun PSK, TH Sarabun PSK Italic, TH Sarabun PSK Bold, TH Sarabun PSK Bold Italic
  • TH Chamornman, TH Chamornman Italic, TH Chamornman Bold, TH Chamornman Bold Italic
  • TH Krub, TH Krub Italic, TH Krub Bold, TH Krub Bold Italic
  • TH Srisakdi, TH Srisakdi Italic, TH Srisakdi Bold, TH Srisakdi Italic Bold Italic
  • TH Niramit AS , TH Niramit AS Italic , TH Niramit AS Bold , TH Niramit AS Bold Italic
  • TH Charm of AU , TH Charm of AU Italic, TH Charm of AU Bold, TH Charm of AU Bold Italic
  • TH Kodchasal, TH Kodchasal Italic, TH Kodchasal Bold, TH Kodchasal Bold Italic
  • TH K2D July8, TH K2D July8 Italic, TH K2D July8 Bold, TH K2D July8 Bold Italic
  • TH Mali Grade 6, TH Mali Grade 6 Italic, TH Mali Grade 6 Bold, TH Mali Grade 6 Bold Italic
  • TH Chakra Petch, TH Chakra Petch Italic, TH Chakra Petch Bold, TH Chakra Petch Bold Italic
  • TH Baijam, TH Baijam Italic, TH Baijam Bold, TH Baijam Bold Italic
  • TH KoHo, TH KoHo Italic, TH KoHo Bold, TH KoHo Bold Italic
  • TH Fah Kwang, TH Fah Kwang Italic, TH Fah Kwang Bold, TH Fah Kwang Bold Italic

ยิ่งไปกว่านั้น ยังมีประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ นร ๐๑๐๖/ว ๒๐๑๙ เรื่อง คำอธิบายการพิมพ์หนังสือราชการภาษาไทยด้วยโปรแกรมการพิมพ์ในเครื่องคอมพิวเตอร์ ซึ่งระบุชัดเจนว่าการพิมพ์หนังสือราชการภาษาไทย ให้ใช้ฟอนต์ TH Sarabun PSK ขนาด 16 พอยต์

จากประกาศข้างต้น ไม่มีการพูดถึงทั้งฟอนต์ TH Sarabun IT๙ และ TH Niramit IT๙ แต่กลับมีการสื่อสารให้ใช้งานสองฟอนต์นี้อย่างกว้างขวาง … ผู้ประกาศควรทบทวนนะครับ

อย่างไรก็ดีที่มาของใช้ฟอนต์ TH Sarabun IT๙ และ TH Niramit IT๙ ข้างต้น ก็คงจะมาจากมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2543 ซึ่งขอความร่วมมือให้ส่วนราชการไทยใช้เลขศักราชเป็นเลขปีพุทธศักราชในกิจกรรมทุกด้านของหน่วยงานราชการ เพื่อเป็นการส่งเสริมการใช้เลขไทย ดังรายละเอียด

คณะรัฐมนตรีพิจารณาตามที่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีเสนอ ตามข้อเสนอของคณะกรรมาธิการการศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม สภาผู้แทนราษฎร เกี่ยวกับการดูแลกำชับให้หน่วยราชการทุกแห่งใช้เลขศักราชเป็นเลขปีพุทธศักราชในกิจกรรมทุกด้านของหน่วยราชการ เพื่อเป็นการสร้างจิตสำนึกของประชาชนชาวไทยในการอนุรักษ์เอกลักษณ์ของชาติ เพื่อมิให้วัฒนธรรมต่างชาติครอบงำ และโดยที่ต้องขอให้หน่วยงานของรัฐและเอกชน รวมทั้งสื่อต่างๆ ร่วมมือปฏิบัติในการใช้เลขปีพุทธศักราช (พ.ศ.) แทนการใช้เลขคริสต์ศักราช (ค.ศ.) ในกิจกรรมทุกด้าน จึงมีมติ ดังนี้

1. ให้ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานของรัฐต่างๆ สนับสนุนในการใช้เลขศักราชเป็นเลขปีพุทธศักราชในกิจกรรมทุกด้านของทางราชการ

2. ให้ขอความร่วมมือสถานีวิทยุ สถานีวิทยุโทรทัศน์ สื่อมวลชนอื่น และภาคเอกชนให้ใช้เลขศักราชเป็นเลขปีพุทธศักราช เพื่อสร้างจิตสำนึกของประชาชนในการอนุรักษ์เอกลักษณะของชาติต่อไป

สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีเสนอตามที่ได้รับแจ้งจากคณะกรรมาธิการการศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม สภาผู้แทนราษฎร ว่า ในการประชุมคณะกรรมาธิการการศาสนาฯ ครั้งที่ 129 เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2543 ได้มีการพิจารณาศึกษาการใช้เลขศักราชของหน่วยราชการที่มีการใช้เลข 2000 กันอย่างแพร่หลาย ทั้งในส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น เนื่องจากมีกระแสวัฒนธรรมต่างชาติครอบงำ กิจกรรมแทบทุกด้านของภาคเอกชนมีการใช้เลขศักราชเป็น 2000 เกือบทั้งหมด ซึ่งเป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง อันอาจจะส่งกระทบต่อเอกลักษณ์ของไทยในอนาคต จนกลายเป็นปัญหาที่จะแก้ไขได้ยาก

นอกจากนี้ สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีได้ศึกษาการใช้ปีศักราชแล้ว ปรากฏดังนี้

1. ปีศักราชมีมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย โดยได้มีการใช้หลายอย่างตามความนิยมของแต่ละยุคสมัย คือ มีทั้งพระพุทธศักราช (พ.ศ.) มหาศักราช จุลศักราช (จ.ศ.) และรัตนโกสินทร์ศก (ร.ศ.) หรือแม้แต่คริสศักราช (ค.ศ.)

2. ส่วนการใช้พระพุทธศักราชในราชการทั่วไปนั้น เกิดจากพระราชดำริและพระบรมราชโองการในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว คือ ตามประกาศวิธีนับวันเดือนปีซึ่งประกาศเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ รัตนโกสินทร์ศก 131 เป็นพระพุทธศักราช 2455 ต่อมาได้มีพระราชบัญญัติปีประดิทิน พุทธศักราช 2483 ใช้บังคับก็ยังคงใช้เลขปีศักราชเป็นปีพระพุทธศักราชต่อไป

3. สำหรับในการบริหารงานเอกสารของทางราชการได้มีระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยงานสารบรรณ พ.ศ. 2526 ใช้บังคับแก่ส่วนราชการ โดยกำหนดให้ใช้เลขปีพุทธศักราชในการออกหนังสือราชการทั่วไป นอกจากนี้ สำนักนายกรัฐมนตรีได้เคยมีหนังสือแจ้งเวียนซักซ้อมความเข้าใจและให้ส่วนราชการถือปฏิบัติในการระบุคำว่า “พ.ศ.” ในแบบคำสั่ง ระเบียบ ประกาศ หรือหนังสือรับรองเพื่อให้การปฏิบัติเป็นแนวเดียวกันอีกด้วย จึงให้ส่วนราชการได้ถือปฏิบัติตามนี้

คณะรัฐมนตรีมีข้อสังเกตว่า ปัจจุบันคนไทยมักใช้ภาษาอังกฤษในกิจกรรมต่างๆ เช่น เสื้อนักกีฬา จึงขอให้รณรงค์ให้ใช้ภาษาไทยในกิจกรรมต่างๆ แต่อย่างไรก็ดี ภาษาต่างประเทศซึ่งเป็นภาษาที่สองก็ยังมีความจำเป็นในสถานการณ์ปัจจุบัน

–ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ชุดนายชวน หลีกภัย)–วันที่ 2 พฤษภาคม 2543–

เลยทำให้มีคนนำฟอนต์ TH Sarabun PSK และ TH Niramit AS มาแก้ไขในส่วนตัวเลขบารบิคให้แสดงเป็นเลขไทย ภายใต้ฟอนต์ใหม่ชื่อ  TH Sarabun IT๙ และ TH Niramit IT๙

ซึ่งถือว่าผิดทั้งหลักการพัฒนาฟอนต์ และเข้าใจมติ ครม. คลาดเคลื่อน เพราะในมติ ครม. ก็เขียนไว้ชัดเจนเกี่ยวกับการใช้เลขไทย รวมทั้งมีข้อหารือในเรื่องนี้จากสำนักนายกรัฐมนตรี ดังนี้

การใช้เลขไทยในงานราชการเป็นไปตามนัยมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2543 ซึ่งขอความร่วมมือให้ส่วนราชการไทยใช้เลขศักราชเป็นเลขปีพุทธศักราชในกิจกรรมทุกด้านของหน่วยงานราชการ เพื่อเป็นการส่งเสริมการใช้เลขไทย ส่วนการใช้เลขไทยในหนังสือราชการนั้น ขึ้นอยู่กับนโยบายของแต่ละส่วนราชการ ในบางกรณีตัวเลขไทยอาจไม่เอื้อต่องานบางประเภท เช่น งานการเงิน งานวิเคราะห์ตารางตัวเลข หรืองานที่ต้องใช้ภาษาต่างประเทศ ส่วนราชการก็สามารถพิจารณาใช้เลขอารบิคได้ โดยไม่เป็นการบังคับว่าส่วนราชการจะต้องใช้เลขไทยอย่างเดียวเท่านั้น ดังนั้น ขอความกรุณาท่านได้โปรดแนะนำหรือชี้แจงให้เจ้าหน้าที่ธุรการหรือที่เกี่ยวข้องทราบถึงหลักการและเหตุผลการใช้เลขไทยในงานราชการดังกล่าวข้างต้นต่อไปด้วย

จากรายละเอียดทั้งหมด ก็คงสรุปได้ว่า

  • การใช้เลขไทย เป็นการส่งเสริมไม่ใช่การบังคับ
  • สนับสนุนในการใช้เลขปีพุทธศักราชเป็นเลขไทยในกิจกรรมทุกด้านของทางราชการ โดยเฉพาะในการออกหนังสือราชการทั่วไป
  • เน้นการใช้เลขไทยที่ไม่กระทบกับงานบางประเภท เช่น งานการเงิน งานวิเคราะห์ตารางตัวเลข หรืองานที่ต้องใช้ภาษาต่างประเทศ

ดังนั้นท่านที่ยังคงใช้ฟอนต์ TH Sarabun IT๙ และ TH Niramit IT๙ ขอให้ยุติการใช้งานนะครับ และสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องในการพิมพ์และจัดทำหนังสือราชการ

ตัวอย่างต่อไปนี้เป็นปัญหาของเอกสารราชการหากยังใช้ฟอนต์ TH Sarabun IT๙ และ TH Niramit IT

1) ไม่ว่าจะพิมพ์ในโหมดไทย อังกฤษ … ตัวเลขทั้งหมดแสดงเป็นเลขไทย
2) หากแก้ไขตัวเลขในโหมดอังกฤษ ระบบจะแสดงเป็นเลขไทย แต่เมื่อนำไปแสดงผล หรือเปลี่ยนฟอนต์ การแสดงผลจะผิดพลาดทันที
3) มติ ครม. เกี่ยวกับเลขไทย ไม่ได้ให้ใช้เลขไทยในทุกอย่าง ดังนั้น ไม่สมควรมีอย่างไร
4) การค้นหาข้อมูลผิดพลาด
5) ส่งผลต่อเอกสารในระยะยาว

สรุปอีกครั้งนะครับ ยุติการใช้ TH Sarabun IT๙ และ TH Niramit IT๙ และสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องกันนะครับ