การอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนในการเข้าถึงข้อมูลหรือเข้ารับบริการภาครัฐในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์

วันที่ 30 มีนาคม 2564 คณะรัฐมนตรีพิจารณาเห็นว่าเพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนในการเข้าถึงข้อมูลหรือเข้ารับบริการภาครัฐผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งเพื่อเป็นการปรับเปลี่ยนรูปแบบและวิธีการให้บริการของภาครัฐให้มีประสิทธิภาพ สอดคล้องกับบริบททางเศรษฐกิจ สังคม และเทคโนโลยีดิจิทัลที่เปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพื่อลดภาระการใช้กระดาษในการติดต่องานราชการด้วย คณะรัฐมนตรีจึงมีมติให้ทุกส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐเร่งรัดการจัดทำแอปพลิเคชัน/แพลตฟอร์มดิจิทัลเกี่ยวกับภารกิจต่างๆ ในความรับผิดชอบของแต่ละส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐเพื่อให้บริการหรือให้ข้อมูลแก่ประชาชนให้แล้วเสร็จโดยเร็วภายใน 3 เดือน

ดาวน์โหลดเอกสาร

การปลดล็อกด้านกฎหมายและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องเพื่ออำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจหรือ Regulatory Guillotine

ให้การปลดล็อกด้านกฎหมายและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องเพื่ออำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจ หรือ Regulatory Guillotine ถือเป็นนโยบายของรัฐบาลและตัวชี้วัดผลการปฏิบัติราชการของหัวหน้าส่วนราชการทุกหน่วย เพื่อให้การขับเคลื่อนเป็นรูปธรรมโดยเร็ว

ดาวน์โหลดเอกสาร

ข้อเสนอในการปรับปรุงการออกเอกสารหลักฐานของทางราชการผ่านระบบดิจิทัล และแนวปฏิบัติในการรับ-ส่งหนังสือราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ระหว่างส่วนราชการที่เป็นนิติบุคคล

คณะรัฐมนตรีมีมติ
๑. รับทราบข้อเสนอเกี่ยวกับการปรับปรุงเพื่อการพัฒนาระบบการออกเอกสารหลักฐานของทางราชการผ่านระบบดิจิทัล และแนวปฏิบัติในการรับ-ส่งหนังสือราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ระหว่างส่วนราชการที่เป็นนิติบุคคล ตามมติคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ ในการประชุมครั้งที่ ๑/๒๕๖๒ เมื่อวันที่ ๒๙ มกราคม ๒๕๖๓ ตามที่สำนักงาน ก.พ.ร. เสนอ ทั้งนี้ ให้สำนักงาน ก.พ.ร. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับความเห็นของกระทรวงคมนาคม กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงมหาดไทย สำนักนายกรัฐมนตรี (สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี) และสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ เช่น (๑) สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) ในฐานะผู้ให้บริการ MailGoThai ควรบริหารจัดการให้เนื้อที่ในการจัดเก็บข้อมูล ความเร็วของระบบ และการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของข้อมูลให้เกิดความเหมาะสมรองรับการปฏิบัติงานได้อย่างเพียงพอและมีประสิทธิภาพ และ (๒) หน่วยงานหลักควรพิจารณาถึงการใช้งบประมาณและทรัพยากรในการดำเนินการ โดยกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และทำความเข้าใจในการขับเคลื่อนให้เกิดเอกภาพ เพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมาย รวมทั้งควรพิจารณาถึงการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของการลงลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ และข้อมูลสำคัญของภาครัฐเป็นสำคัญ เป็นต้น ไปพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไปด้วย
๒. ให้สำนักงาน ก.พ.ร. สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๒ ตุลาคม ๒๕๖๑ [เรื่อง มาตรการอำนวยความสะดวกและลดภาระแก่ประชาชน (การไม่เรียกสำเนาเอกสารที่ทางราชการออกให้จากประชาชน)] เมื่อวันที่ ๒ เมษายน ๒๕๖๒ (เรื่อง การออกเอกสารหลักฐานของทางราชการผ่านระบบดิจิทัล) และเมื่อวันที่ ๑๘ ธันวาคม ๒๕๕๐ (เรื่อง การพัฒนาระบบจดหมายอิเล็กทรอนิกส์กลางเพื่อการสื่อสารในภาครัฐ) ให้บรรลุผลสำเร็จตามเป้าหมายและระยะเวลาที่กำหนดไว้อย่างเป็นรูปธรรม
๓. ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการเพิ่มเติม ดังนี้
๓.๑ ให้สำนักงาน ก.พ.ร. เป็นหน่วยงานหลักร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักนายกรัฐมนตรี (สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี) สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) กำหนดแนวทางในการส่งเสริมและสนับสนุนให้ส่วนราชการต่าง ๆ ติดต่อราชการระหว่างกันด้วยการรับ-ส่งหนังสือราชการทางระบบสารบรรณอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อให้เกิดการนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ในการบริหารราชการแผ่นดินอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
๓.๒ ให้สำนักงาน ก.พ.ร. เป็นหน่วยงานหลักพิจารณาร่วมกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อกำหนดแนวทางในการออกใบอนุมัติ ใบอนุญาตผ่านทางระบบอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อเพิ่มการอำนวยความสะดวกในการให้บริการแก่ประชาชนในการติดต่อขอใบอนุมัติใบอนุญาตประเภทต่าง ๆ ให้มากยิ่งขึ้นด้วย

การออกเอกสารหลักฐานของทางราชการผ่านระบบดิจิทัล

คณะรัฐมนตรีมีมติ ดังนี้
๑. เห็นชอบในหลักการการออกเอกสารหลักฐานของทางราชการผ่านระบบดิจิทัล โดยอาจพิจารณาให้มีการนำร่องดำเนินการในภารกิจของหน่วยงานที่มีผลกระทบต่อประชาชน ผู้ประกอบการ และนักลงทุนเป็นสำคัญก่อน ตามความเห็นของกระทรวงอุตสาหกรรม ทั้งนี้ หากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีความจำเป็นต้องออก/ปรับปรุงแก้ไขกฎหมายเพื่อรองรับการดำเนินการดังกล่าว ก็ให้ดำเนินการให้สอดคล้องกับพระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. ๒๕๔๔ และที่แก้ไขเพิ่มเติม ตามความเห็นของสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) และร่างพระราชบัญญัติการบริหารงานและการให้บริการภาครัฐผ่านระบบดิจิทัล พ.ศ. …. ตามความเห็นของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมด้วย
๒. ในกรณีที่หน่วยงานใดไม่สามารถปรับปรุงแก้ไขกฎระเบียบเพื่อรองรับการดำเนินการผ่านระบบดิจิทัลได้ภายในปี พ.ศ. ๒๕๖๒ หรือไม่สามารถพัฒนางานบริการให้เป็นระบบการให้บริการอิเล็กทรอนิกส์ (e-Service) หรือยกเลิกการใช้กระดาษได้ภายในปี พ.ศ. ๒๕๖๓ ตลอดจนในกรณีที่มีปัญหาในทางปฏิบัติ ให้หน่วยงานดังกล่าวเร่งประสานงานกับสำนักงาน ก.พ.ร. เพื่อพิจารณาขยายระยะเวลาการดำเนินการเป็นรายกรณี โดยจัดลำดับความสำคัญ เร่งด่วน และความพร้อมของหน่วยงาน รวมถึงระยะเวลาที่ต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จด้วย
๓. ให้สำนักงาน ก.พ.ร. เป็นหน่วยงานหลักร่วมกับสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับความเห็นของหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็น (๑) ความพร้อมของหน่วยงานในการออกเอกสารผ่านระบบดิจิทัล เช่น ความพร้อมของระบบอินเทอร์เน็ต เป็นต้น (๒) การบูรณาการร่วมกันเพื่อการพัฒนาระบบและการเชื่อมโยงข้อมูล และ (๓) ความปลอดภัยทางระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ ไปพิจารณาให้ได้ข้อยุติและดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป
๔. ให้สำนักงาน ก.พ.ร. ร่วมกับสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำแนวปฏิบัติที่ชัดเจนและซักซ้อมความเข้าใจกับบุคลากรของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ให้แก่ประชาชนผู้รับบริการ เพื่อให้การพัฒนางานบริการภาครัฐให้เป็นระบบการให้บริการอิเล็กทรอนิกส์และการออกเอกสารของทางราชการผ่านระบบดิจิทัลมีมาตรฐานในการดำเนินงานในแนวทางเดียวกันและเกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป

การลดการใช้กระดาษด้วย QR Code

คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบรายงานการขับเคลื่อนและเร่งรัดการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาล ครั้งที่ ๔๔ (ระหว่างวันที่ ๑๒ กันยายน ๒๕๖๐-๓๑ กรกฎาคม ๒๕๖๑) ตามที่คณะกรรมการขับเคลื่อนและเร่งรัดการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาลเสนอ สรุปได้ ดังนี้

การบริหารราชการแผ่นดิน ด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม เช่น การเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการภาครัฐและการอำนวยความสะดวกในการบริการประชาชน การจัดทำและเผยแพร่วีดิทัศน์เรื่อง การลดการใช้กระดาษด้วย QR Code และมาตรการยกเลิกการขอสำเนาเอกสารของทางราชการจากประชาชนทางช่องทางต่างๆ

การลดใช้กระดาษด้วย QR Code และ มาตรการยกเลิกการขอสำเนาเอกสารของทางราชการจากประชาชน

การลดการใช้กระดาษ ถือเป็นเป้าหมายที่สำคัญในการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานภายในองค์กร ซึ่งในการประชุมต่าง ๆ จะมีเอกสารที่ใช้ในการประชุมเป็นจำนวนมาก จึงได้มีการจัดทำเอกสารการประชุมเป็นไฟล์อิเล็กทรอนิกส์ให้ดาวน์โหลดผ่าน QR Code รวมทั้งการแจ้งให้ผู้เข้าร่วมประชุม upload ข้อมูลในเว็บไซต์ หรือส่งทางอีเมล์ หรือการส่ง QR Code แทนการแจกเอกสารในที่ประชุม
และประชาสัมพันธ์ให้ผู้เข้าร่วมประชุมลดการใช้เอกสารที่เป็นกระดาษ และใช้อุปกรณ์ทางอิเล็กทรอนิกส์ในการเปิดดูเอกสารแทน

ดาวน์โหลดเอกสาร